กะลาสอนพ่อ

หลายสิบปีมาแล้ว มีครอบครัวหนึ่งทำมาหากินด้วยการค้าขาย มีฐานะค่อนข้างดี ประกอบด้วยสมาชิกในครอบครัว ๔ คน คือพ่อลูกชาย ลูกสะใภ้ และหลานปู่ 

เดิมทีกิจการนั้น ผู้เป็นพ่อได้ก่อร่างสร้างขึ้นมาเองร่วมกับภรรยา  แต่เมื่อภรรยาสิ้นชีวิตไป และประจวบกับตนเองมีอายุมากขึ้นอยากจะพักผ่อน จึงมอบกิจการทั้งหมดให้กับลูกชาย กิจการก็ผ่านไปด้วยดี จนลูกชายมีบุตรคนหนึ่ง

เวลาผ่านไป ผู้เป็นพ่อเริ่มชรามาก เดินเหินงก ๆ เงิ่น ๆ ชนโน่นล้มชนนี่แตก เวลาทานข้าวบนโต๊ะอาหารด้วยกัน ก็ทำน้ำหกบ้าง ทานหกเลอะเทอะบ้าง ทำข้าวของแตกบ้าง

ภาพประกอบบทความ ชราวัย

บ่อยครั้งเข้าสะใภ้ก็เริ่มบ่น และบอกสามีให้ช่วยเตือนพ่อ ลูกชายก็เตือนพ่อให้ระวังของจะเสียหาย ชายชราเริ่มอึดอัดใจ แต่ไม่อาจบังคับสังขารได้

เมื่อภรรยาบ่นมากเข้า ลูกชายก็หาทางออก โดยให้บิดาไปอยู่ที่บ้านหลังเล็กในสวนหลังบ้าน แล้วให้คนนำอาหารไปส่ง หากวันใดว่างก็นำไปเอง เหตุการณ์ก็เริ่มคลี่คลายลง

แต่ผ่านไปไม่กี่วัน ลูกชายและภรรยาก็เริ่มทนไม่ได้อีก เพราะผู้เป็นพ่อยังทำถ้วยจานแตกบิ่นเหมือนเดิม จึงต้องหาวิธีแก้ไข คือใช้กะลามะพร้าวที่ขัดถูจนเกลี้ยง ใส่อาหารแทนถ้วย และจาน 

ใช้กระป๋องนมเปล่าใส่น้ำแทนแก้ว แล้วใส่สำรับยกไปให้พ่อ เมื่อทานเสร็จก็ยกกลับมาส่ง ตากแดดตากลมแห้งแล้วก็นำมาใช้ใหม่ ตกก็ไม่แตก ใช้ได้ทนดี 

เหตุการณ์ก็ผ่านไปด้วยดี ไม่มีเสียงบ่นจากภรรยาอีก แต่ผู้เป็นพ่อได้แต่ทนกล้ำกลืนความระทมใจ เพราะไม่อาจบ่นหรือต่อว่าอะไรได้ ทั้งที่สมบัติต่างๆ เป็นของแกทั้งสิ้น 

แต่ตอนนี้หากินเองไม่ได้ต้องอาศัยลูกกิน เขาเอามาให้กินก็บุญโขแล้ว แกคิดอย่างนี้ 

นานหลายปี หลานชายเริ่มโตแล้ว เห็นพ่อแม่นำสำรับกะลาไปให้ปู่ทุกวัน บางวันก็วิ่งตามไปด้วย จึงถามพ่อด้วยความสงสัย “คุณพ่อครับ ทำไมคุณปู่ไม่ได้กินข้าวกับพวกเราด้วยครับ”

ยอดคุณพ่อนิ่งไปพักหนึ่งคิดหาคำตอบ แล้วบอกลูกว่า “คุณปู่แก่แล้วลูก ทำอะไรช้า กินก็ช้า คนแก่จึงต้องอยู่ส่วนคนแก่ กินอยู่กับพวกเราไม่ได้หรอกลูก”

“แล้วทำไมต้องให้คุณปู่กินข้าวในกะลา ให้กินน้ำในกระป๋องด้วย จานและแก้วของเราก็มีเยอะแยะ ทำไมไม่เอามาให้คุณปู่เล่าครับ” เด็กน้อยถามด้วยความสงสัยตามประสา

ภาพประกอบบทความ กะลาใส่ข้าว

“เพราะคุณปู่เป็นคนแก่ไง คนแก่ชอบทำของแตก กะลาและกระป๋องมันไม่แตกง่าย เหมาะสำหรับคนแก่แล้วลูก คนแก่เขากินกันอย่างนี้แหละลูก”

คุณพ่อตอบฉาดฉานหลังจากตั้งหลักได้ ค่อยโล่งใจขึ้นเมื่อลูกชายนิ่งฟังอย่างตั้งใจ และไม่ได้ยิงคำถามที่ตอบยากเข้ามาอีก 

และหลังจากนั้นได้เห็นลูกชายวิ่งเข้าวิ่งออกที่บ้านคุณปู่ในวันหยุดเรียนก็ยิ่งตายใจว่าคงไม่มีอะไรแล้ว ลูกชายคงเข้าใจแล้ว ช่วงปิดเทอมวันหนึ่ง 

ผู้พ่อเกิดความสงสัยว่าช่วงนี้ลูกชายชอบขลุกอยู่แต่ในห้อง ทำอะไรเสียงกุกกัก ๆ ตลอด จึงเข้าไปดู เห็นลูกชายกำลังขัดกะลามะพร้าวอยู่อย่างขะมักเขม้น 

ในตู้มีกะลามะพร้าวที่ขัดแล้วหลายใบ ที่มุมห้องมีกะลาที่ยังไม่ได้ขัดกับกระป๋องนมกองรวมกันอยู่ส่วนหนึ่ง จึงถามลูกชายว่า “นี่เอ็งจะเอากะลามะพร้าวไปทำอะไรตั้งมากมาย”

ภาพประกอบบทความ คิดหนัก

“ผมเตรียมไว้สำหรับคุณพ่อกับคุณแม่ไงครับ” เขาตอบฉาดฉาน 

“เวลาที่คุณพ่อคุณแม่แก่แล้วจะได้ใช้ ผมเลยเตรียมไว้เยอะ ๆ เพราะต้องใช้สองคน คุณพ่อสบายใจได้ กะลาผมขัดอย่างดี ประป๋องก็ไม่เป็นสนิม สะอาดกว่าที่คุณพ่อนำไปให้คุณปู่ใช้เสียอีก

เมื่อได้ฟังคำตอบจากลูก ผู้พ่อถึงกับสะอึก ตาสว่างเหมือนได้เห็นธรรม ได้สติระลึกว่าสิ่งที่ตนทำลงไป และที่บอกลูกไปนั้นไม่ถูกต้อง มันผิด ทำให้ลูกเข้าใจผิดไปด้วย กรรมกำลังจะตามทันเราแล้ว

เขาจึงนำเรื่องนั้นไปบอกภรรยา แล้วตกลงกันว่าจะไม่ทำสิ่งที่ไม่ถูกเช่นนั้นให้ลูกเห็นอีก นับแต่นั้นมาเขาได้นำสำรับกับข้าวไปเลี้ยงพ่ออย่างดีเหมือนเดิม จะแตกเสียหายอย่างไรก็ไม่ว่ากัน 

ผู้เป็นปู่ก็เลยพลอยสบายกาย และสบายใจ ได้อานิสงส์จากความฉลาดและความไม่เดียงสาของหลานไปด้วย.

เรื่องนี้สื่อความให้เห็นว่า..

สิ่งที่พ่อแม่ทำหรือพูดไปนั้น ล้วนเป็นบทเรียนสำหรับลูกทั้งสิ้น เขาจะจดจำซึมซับไว้ในสมอง และความคิดไปเรื่อย ๆ เขาย่อมแยกแยะไม่ออกว่าที่พ่อแม่ทำหรือพูดไปนั้นผิดถูก หรือควรไม่ควรอย่างไร 

ต่อไปข้างหน้าเขาก็จะทำตามอย่างที่เขาเห็น เมื่อตัวเองหยาบคาย ลูกก็จะหยาบคายตาม เมื่อตัวเองชอบมั่วสุม ชอบสุรายาเมา ชอบเล่นการพนัน ลูกก็จะเรียนรู้และทำเช่นนั้นเมื่อถึงเวลาและวัยถึง 

เมื่อตัวเองทอดทิ้งพ่อแม่ ไม่ดูแลเอาใจใส่พ่อแม่ ไม่ว่ายามดี หรือยามป่วยไข้ ลูกก็จะจดจำทำกับตนเอง เมื่อยามแก่ตัวลง หรือยามป่วยไข้ ลูกก็จะไม่สนใจ ไม่ดูแลปรนนิบัติ ปล่อยให้โหยหาว้าเหว่รอคอยอยู่ตามลำพัง

ลูกมักคิดว่าพ่อแม่คงทนได้เพราะสมัยก่อนก็ปล่อยให้ปู่ย่าตายายเป็นเช่นนี้มาแล้ว ท่านจึงสอนกันมาว่า ถ้าอยากให้ลูกกตัญญู ต้องกตัญญูให้ลูกเห็น อยากให้ลูกเป็นคนดี ต้องเป็นคนดีให้ลูกเห็น ดังคำที่ว่า “อยากให้ลูกดี ต้องทำดีให้ลูกดู” นั้นถูกต้องที่สุดแล้ว.


กิร ดังได้สดับมา

พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต)

ภาพจาก pixabay, pexels, เพจการบ้าน


ความคิดเห็น

  1. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

    ตอบลบ
  2. ติดตามอ่าน ได้ข้อคิดที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ🙏🙏🙏

    ตอบลบ
  3. ขอกราบนมัสการและขอกราบอนุโมทนาบุญ เนื้อเรื่องสอนธรรมะเรื่องความกตัญญูได้อย่างดียิ่ง ขอกราบอนุโมทนาบุญ สาธุ

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น