ม้าขากะเผลก

ในสมัยหนึ่ง ณ เมืองพาราณสี พระเจ้าสามะผู้เป็นพระราชานั้นทรงมีม้ามงคลตัวหนึ่งชื่อปัณฑวะ ทรงให้คนเลี้ยงม้าดูแลอย่างดีที่โรงม้าหลวง

ในตอนเช้าคนเลี้ยงจะจูงม้าปัณฑวะไปวิ่งออกกำลังทุกวัน ต่อมาเมื่อคนเลี้ยงม้าคนเก่าเสียชีวิตลง จึงได้รับเอานายคิริทัต ชายผู้มีขากะเผลกเข้ามาแทน


pixabay
เขาทำหน้าที่จูงม้าไปออกกำลังตามปกติ ม้าเห็นคนจูงเดินขากะเผลกนำหน้าไปทุกเช้า ก็คิดว่าเขากำลังฝึกตนให้เดินเช่นนั้น นับแต่นั้นมาม้าก็เริ่มเดินผิดปกติคือเดินขากะเผลกเหมือนม้าพิการ

วันหนึ่ง พระเจ้าพาราณสี เสด็จไปทรงม้าปัณฑวะ  ทรงเห็นความผิดปกติในม้าทรง คือวิ่งไม่ตรงและไม่เรียบเหมือนอย่างเคย ทรงพิจารณาเห็นว่าม้าขากะเผลกไป


ถามใครก็ไม่รู้เรื่อง จึงทรงมีรับสั่งให้หมอหลวงไปดูตรวจดูอาการ หมอหลวงไปตรวจดูแล้วก็ไม่พบโรคอะไรในตัวม้า จึงกลับมากราบบังคมทูลให้ทรงทราบ

pixabay
พระราชาจึงทรงรับสั่งให้อำมาตย์ที่ปรึกษา ผู้เป็นราชบัณฑิตประจำราชสำนัก มาเข้าเฝ้าแล้วตรัสสั่ง ให้ท่านอำมาตย์ ช่วยไปดูที ว่าทำไมม้าปัณฑวะจึงเดินขากะเผลก 

อำมาตย์จึงไปที่โรงม้าหลวงคอยสังเกตดูอาการของม้าอยู่ ๒-๓ วัน ก็ทราบสาเหตุแห่งความผิดปกติของม้า จึงเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลให้ทรงทราบ.. 


pixabay
“ว่าเหตุทั้งปวงเกิดจากคนจูงม้าไปออกกำลังเป็นคนขากะเผลก ม้าได้เห็นตัวอย่างเช่นนั้น จึงได้ทำตามบ้าง หากเปลี่ยนคนจูงม้าเป็นคนเดินปกติเสีย ม้าก็จะเดินเป็นปกติได้ดังเดิม”

พระเจ้าพาราณสีทรงรับสั่งให้เปลี่ยนคนจูงม้าใหม่ ในไม่ช้าม้าปัณฑวะก็กลับเดินเรียบเหมือนเดิม.

เรื่องนี้สื่อความให้เห็นว่า ไม่ว่าคนหรือสัตว์ย่อมมีปกติเหมือนกันอย่างหนึ่งคือชอบทำตามผู้นำ โดยเฉพาะเด็ก ๆ เขาจะมองดูผู้ใหญ่แล้วทำตามลำพังแค่สอนให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้เขาจะอิดออดและไม่อยากทำ 


pixabay
แต่ถ้าคนที่เขาใกล้ชิด เช่นพ่อแม่ พี่ ๆ ปู่ย่าตายาย ครูอาจารย์ ตลอดจนพี่เลี้ยงทำอะไรให้เขาเห็น ไม่ว่าดีหรือไม่ดี ถูกหรือไม่ถูก เขาชอบจะทำตามทุกอย่าง

ความปกติอันเป็นข้อเท็จจริงนี้ย่อมเป็นประโยชน์สำหรับผู้ใหญ่ที่ฉลาดที่ต้องการฝึกฝนอบรมลูกหลานของตนให้เป็นคนดีโดยไม่ต้องปากเปียกปากแฉะสอนลูกหลานให้มากความ

เพียงทำตัวเองให้เป็นตัวอย่าง ให้ลูกหลานเห็นทุกวันเท่านั้น เขาก็จะทำตามจนติดเป็นนิสัย ต้องการให้ลูกหลานเป็นอย่างไร ก็ทำอย่างนั้นให้ลูกเห็น เป็นใช้ได้ ดังคำที่ว่า “ต้องการให้ลูกดี ต้องทำดีให้ลูกดู”

จากหนังสือ กิร_ดังได้สดับมา
พระธรรมกิตติวงศ์(ทองดี)
ภาพจาก pixabay.com

ความคิดเห็น

  1. สาธุ ขอกราบอนุโมทนาบุญกับเนื้อหาธรรมะที่ดีมีคุณค่าควรแก่การนำไปใช้ฝึกบุตรหลานในครอบครัว สาธุ

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น