ไม้แก่ดัดยาก

การที่จะอบรมบ่มเพาะภาษา นิสัย คุณธรรม และวัฒนธรรมที่ดีให้กับลูกหลานนั้น ต้องทำตั้งแต่อายุยังน้อย ตามภาษิตที่ว่า “ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก” 

ดังเรื่องของสามีภรรยาคู่หนึ่ง ที่ไปตั้งรกรากอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นอาจารย์สอนอยู่ในมหาวิทยาลัย เพราะมีความรู้ด้วยกันทั้งคู่ 

ต่อมาทั้งสองมีบุตรและธิดาด้วยกันสองคน พยายามเลี้ยงดูตามอย่างฝรั่ง ในบ้านก็ปฏิบัติตัวอย่างฝรั่ง พูดกันด้วยภาษาอังกฤษ 

ยามมีเพื่อนฝูงคนไทยไปเยี่ยม จึงจะพูดภาษาไทยกันที เด็กสองคนจึงพูดภาษาไทยไม่ได้ แต่ฟังพอรู้เรื่อง และทำตามคำสั่งได้ พ่อแม่ก็มิได้ว่าอะไร 

ภาพประกอบบทความ การเลี้ยงลูก

เมื่อลูกโตเป็นวัยรุ่น พ่อแม่จึงพามาเยี่ยมญาติพี่น้องที่ประเทศไทย แนะนำญาติพี่น้องให้หลานรู้จัก บอกให้ไหว้คนโน้นทีคนนี้ที ให้ลูกสวัสดีลุงป้าน้าอา 

พาไปที่บ้านเพื่อน ๆ ก็บอกให้ลูกทำอย่างนั้น อย่างนี้ ลูกทั้งสองเมื่อพ่อแม่สั่ง ก็จำต้องทำแบบเก้ ๆ กัง ๆ ไม่สนิท พูดก็ไม่ชัด 

เมื่อถูกถามก็โต้ตอบไม่ได้ พ่อแม่ต้องคอยกำกับ ทำให้ดูบ้าง พูดนำบ้าง ทำให้ลูก ๆ อึดอัด อายคนก็อาย แต่จำใจต้องทำตามพ่อแม่ 

ที่สำคัญคือญาติพี่น้องบางคน ตำหนิพ่อแม่ว่าทำไมไม่สอนลูกให้พูดภาษาไทย ไม่สอนมารยาทไทยให้ลูกอะไรทำนองนี้ ทำให้รู้สึกว่าตนเป็นเด็กที่ใช้ไม่ได้ เพราะขาดการอบรมสั่งสอน

เกือบสามอาทิตย์ผ่านไป เด็ก ๆ เหมือนอยู่ในอีกโลกหนึ่ง จะสบายใจขึ้น เมื่อพ่อแม่พาไปเที่ยวตามลำพัง หรือเมื่อลูก ๆ ของญาติที่รู้ภาษาอังกฤษดีพาไปเที่ยว 

ก่อนกลับอเมริกา ญาติ ๆ ผู้ใหญ่ต่างอวยชัยให้พรตามธรรมเนียม บวกกับคำพูดที่ปรารถนาดี “กลับไปแล้วพยายามเรียนภาษาไทยนะ พูดได้บ้างก็ยังดี มารยาทไทย การกราบ การไหว้ก็ต้องฝึกไว้ อย่าลืมว่าเชื้อสายเราเป็นคนไทย”

เมื่อกลับไปถึงอเมริกาแล้ว พ่อแม่ก็พยายามพูดภาษาไทยกันในบ้านและบังคับให้ลูกพูดจาโต้ตอบเป็นภาษาไทย

แต่ลูกทั้งสองคนกลับอึดอัดขึ้นมาอีก เพราะไม้แก่ย่อมดัดยากเป็นธรรมดา พ่อแม่ก็เริ่มไม่พอใจนัก ที่ลูกไม่ยอมสนใจภาษาไทย

“ทำไมลูกไม่เรียนภาษาไทยให้ดีกว่านี้ แค่ฟังได้อย่างเดียวไม่พอ ต้องพยายามพูดให้ได้ด้วย เวลาไปเมืองไทยจะได้พูดกับญาติพี่น้องได้รู้เรื่อง ไม่ต้องมาอึดอัดขายหน้าพ่อแม่อย่างที่แล้วมา”

ทั้งสองคนไม่โต้ตอบอะไร แต่ก็ไม่ได้ทำตาม พ่อแม่เริ่มอึดอัดเสียเอง วันหนึ่งจึงบอกลูกว่า

“ต่อไปนี้ต้องบังคับกัน เมื่ออยู่ในบ้านต้องพูดภาษาไทยกัน ห้ามพูดภาษาอังกฤษ”

ลูกทั้งสองคนมองหน้ากัน เห็นพ่อแม่เอาจริง คนโตจึงพูดกับพ่อแม่เป็นภาษาอังกฤษที่แปลได้ความว่า

“คุณพ่อคุณแม่จะมาบังคับอะไรกันตอนนี้ สมัยที่ผมกับน้องยังเป็นเด็กอยู่ ทำไมจึงไม่บังคับเสียแต่ตอนนั้น ทำไมจึงไม่พูดภาษาไทยในบ้านมาแต่แรก ผมและน้องคงไม่ไปเมืองไทยอีกแล้ว เพราะไปแล้วก็พูดกันไม่ค่อยรู้เรื่อง”

พ่อแม่ฟังลูกพูดแล้วก็ได้แต่นิ่ง เหตุผลของลูกถูกต้องทุกอย่าง เป็นความผิดของตนเองแท้ ๆ ที่ไม่อบรมบ่มเพาะเขามาตั้งแต่แรก

แล้วครอบครัวนั้นก็กลายเป็นครอบครัวฝรั่งไปโดยปริยาย เด็กสองคนนั้นก็มิได้มาเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องที่เมืองไทยอีกเลย.

เรื่องนี้สื่อความให้เห็นว่า..

การที่ลูกหลานทำอะไรไม่เป็น ทำอะไรไม่ถูกต้องจนเป็นที่ขวางหูขวางตาผู้ใหญ่นั้น มิใช่เป็นความผิดของเด็กหรือของคนอื่นตลอดถึงสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เลย เป็นความผิดของพ่อแม่สถานเดียว 

ถ้าพ่อแม่รักลูกอย่างถูกทาง และกล้าที่จะยอมเห็นลูกเจ็บ โดยฉีดวัคซีนแห่งความดีความถูกต้อง อบรมบ่มเพาะลักษณะนิสัยที่ดีไว้ในตัวลูกเรื่อยมา 

จนเขามีภูมิต้านทานที่แข็งแกร่งและติดเป็นนิสัยถาวรแล้วคนอื่นและสิ่งแวดล้อมจะมาทำอะไรลูกได้มากมายนัก จิตสำนึกที่ดีและความรักดีที่ได้รับการปลูกฝังมาแต่เด็กนั้น ก็จะยังสถิตมั่นอยู่ในใจของเขา และจะฉุดรั้งเขามิให้หลงเพลินไปตามกระแสโลกเกินไป 

การที่เด็กมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ มีนิสัยที่ผู้ใหญ่รับไม่ได้ ตลอดถึงมีวุฒิภาวะต่ำจนน่าตกใจนั้น เป็นเพราะพวกเขาไม่ได้รับการฝึกฝนอบรมบ่มเพาะเชื้อแห่งความดีอย่างต่อเนื่องมาแต่เด็ก 

ประกอบกับได้เห็นแต่ภาพที่ไม่ดีที่พ่อแม่ปฏิบัติเป็นประจำ จึงทำให้เขาติดเชื้อเช่นนั้นจากพ่อแม่แล้วทำตามอย่างเท่านั้นเอง.


หนังสือ กิร ดังได้สดับมา

พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต)

ภาพจาก เพจการบ้าน, pexels.com

ความคิดเห็น

  1. กราบแทบเท้าพระคุณเจ้าที่เคารพยิ่ง เนื้อหาธรรมะนี้มีคุณค่าต่อคนเป็นพ่อแม่ ผู้ดูแลเด็กอย่างยิ่ง สาธุ ขอกราบอนุโมทนาบุญ

    ตอบลบ
  2. กราบสาธุ สาธุ สาธุเจ้าค่ะ

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น