แผนผังของชีวิต

พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ได้สอนให้กำหนดเครื่องหมายที่ใสสะอาด บริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว โตเท่าแก้วตาดำของเรา แล้วก็เอาใจที่แว่บไปแว่บมาในเรื่องราวต่าง ๆ มาหยุดนิ่งที่กลางดวงใส ๆ นี้ โดยตรึกนึกดวงใส ๆ ใจหยุดอยู่ตรงกลางดวงใสอย่างสบาย ๆ พร้อมกับประกอบบริกรรมภาวนาว่า สัมมาอะระหัง ๆ ๆ เรื่อยไป

ทุกครั้งที่ภาวนา สัมมาอะระหัง ท่านก็ให้ตรึกนึกถึงดวงใสเอาใจหยุดที่กลางดวงใสไปเรื่อย ๆ ภาวนาเรื่อยไป กี่สิบ กี่ร้อย กี่พัน กี่หมื่น กี่แสนครั้ง จนกว่าใจจะหยุดนิ่ง พอใจหยุดนิ่ง ก็ทิ้งคำภาวนาไป จะมีอาการคล้าย ๆ กับว่าลืมคำภาวนาไป ใจไม่ได้ฟุ้งคิดเรื่องอื่น หรือเกิดความรู้สึกว่าไม่อยากภาวนา สัมมาอะระหัง ต่อไป 

อยากวางใจนิ่ง ๆ อยู่ที่กลางดวงใส ๆ ถ้ามีอาการหรือความรู้สึกอย่างนี้ ท่านก็บอกไม่ต้องย้อนกลับมาภาวนา สัมมาอะระหังใหม่ ให้หยุดใจเรื่อยไป นิ่งในนิ่งเรื่อยไป เดี๋ยวจะถูกส่วนไปเอง เราไปทำให้ถูกส่วนไม่ได้ นอกจากหยุดกับนิ่ง วางใจให้พอดีจะถูกส่วนไปเอง

พอถูกส่วน ใจจะตกศูนย์ลงไปจากฐานที่ ๗ ไปฐานที่ ๖ ไปยกเอาดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์ โตเท่ากับฟองไข่แดงของไก่ ลอยขึ้นมาตรงฐานที่ ๗ ที่เห็นคือ เห็นเป็นดวงลอยขึ้นมา แล้วก็มาหยุดนิ่งตรงฐานที่ ๗ ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดเจนตอนนี้ 

เพราะใจหยุดสนิทได้สมบูรณ์ ๑๐๐% ดวงใส ๆ ที่ขึ้นมานี้ คือดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน มาพร้อมความสุขที่แท้จริง ที่ละเอียด ประณีต เป็นอิสระ กว้างขวาง ไม่มีขอบเขต แตกต่างจากความสุขทั้งหลายที่เคยเจอ เรียกว่า นิรามิสสุข เป็นสุขที่ไม่ต้องอาศัย คน สัตว์ สิ่งของ สุขด้วยตัวของตัวเอง แล้วกว้างขวาง ไม่ถูกครอบด้วยความหายนะ

แล้วการเดินทางในสายกลางก็จะเริ่มขึ้น เมื่อดวงปฐมมรรคนี้เกิดขึ้น ใจที่นิ่งแน่นแล้วก็จะนิ่งในนิ่งหนักเข้าไปอีก ในกลางดวง แล้วก็เคลื่อนไปสู่ภายใน เข้าถึงดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ๖ ดวง ตั้งแต่ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือปฐมมรรค ไปถึงดวงวิมุตติญาณทัสสนะ เป็นชุด แล้วก็เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด ที่มีหน้าตาเหมือนตัวเรา ท่านหญิงเหมือนท่านหญิง ท่านชายเหมือนท่านชาย นั่งขัดสมาธิเจริญสมาธิภาวนา หันหน้าออกไปทางเดียวกับเรา

ใจก็จะหยุดไปเรื่อย ๆ ปล่อยหยุดปล่อยพ้นไปเรื่อย ๆ ก็จะเข้าถึงกายในกาย คือ กายทิพย์หยาบ - ละเอียด กายรูปพรหมหยาบ- ละเอียด กายอรูปพรหมหยาบ - ละเอียด กายธรรมโคตรภูหยาบ - ละเอียด เป็นกายองค์พระใสเป็นแก้วใส เป็นเพชรเกตุดอกบัวตูม หน้าตักหย่อนกว่า ๕ วา นิดหน่อย แล้วก็เข้าถึงกายธรรมพระโสดาบัน หน้าตัก ๕ วาสูง ๕ วา ใสบริสุทธิ์ดุจกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้า ใสยิ่งกว่านี้แล้วก็เข้าถึงกายธรรมพระสกิทาคามี หน้าตัก ๑๐ วา สูง ๑๐ วา ใสบริสุทธิ์ดุจคันฉ่องส่องเงาหน้า หรือยิ่งกว่านั้น

แล้วก็จะเข้าถึงกายธรรมพระอนาคามี หน้าตัก ๑๕ วาสูง ๑๕ วา ใสบริสุทธิ์ดุจดันฉ่องส่องเงาหน้า หรือยิ่งกว่านั้น ใสเกินใส ยิ่งกว่านี้ก็จะเข้าถึงกายธรรมพระอรหัต หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒0 วา ทั้งหมด ๑๘ กาย ระหว่างกายก็จะมีดวงธรรม ๖ ชุดดังกล่าว ละเอียดประณีตยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ สลับกัน เห็นดวงธรรมและก็เห็นกาย สลับกันไปอย่างนี้จนกระทั่งถึงกายที่ ๑๘ 

ทั้ง ๑๘ กายนี้แหละเป็นแผนผังของชีวิต ที่ติดมาตั้งแต่ปฐมชาติ ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ สร้างบารมีเรื่อยมาจนกระทั่งบัดนี้ มันติดมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์โน้น ติดมายาวนาน แต่พญามารพยายามกดธาตุธรรมนั้นให้ตกต่ำลงไป ปิดบังไม่ให้เรารู้เห็น เมื่อปิดบังด้วยกิเลสอาสวะ ก็ทำให้เราไม่รู้ไม่เห็นเรื่องราวที่เป็นแผนผังของชีวิต ที่ติดตัวมาตั้งแต่ปฐมชาติที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ นั่นแหละเขาปิดบังไว้ แล้วกดให้ตกต่ำ แล้วตรึงเอาไปติดในธรรมที่ทำให้เนิ่นช้า ที่เรียกว่าปปัญจธรรมคือ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ทั้ง ๕ อย่างนี้ ตรึงเอาไปติด

ใจก็ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เมื่อใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัวมากเข้าแทนที่จะรู้เรื่องของตัว ก็ไปรู้สิ่งที่นอกตัว ความรู้ที่อยู่นอกตัวยิ่งรู้ก็ยิ่งร้อน ยิ่งรู้ก็ยิ่งมืด ยิ่งรู้ก็ยิ่งไม่บริสุทธิ์ รู้อย่างนั้นก็ไม่พ้นจากทุกข์ทรมาน แล้วก็วนเวียนอยู่อย่างนั้นเรื่อยไป ให้เขากดธาตุธรรมให้ตกต่ำลงอย่างนั้นทีเดียว 

เราจะรู้เรื่องราวได้ ต้องมาถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือได้บังเกิดในยุคของท่าน หรือความรู้ของท่านที่ยังปรากฎอยู่ถ้าได้ฟังคำสอนหรือได้ศึกษาคำสอนนั้น เอามาไตร่ตรอง มาพิจารณาหรือปฏิบัติตาม

เมื่อปฏิบัติถูกส่วน ความไม่รู้จริงก็หลุดออกไป เหมือนกดสวิทซ์ไฟฟ้า ความมืดในห้องก็หายไป ความสว่างเข้ามาแทนที่ ส่องให้เราได้เห็นสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในห้องนั้นตามความเป็นจริง เห็นถึงไหนก็รู้ไปถึงนั้น จักขุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ไม่ก่อนไม่หลัง เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน จักขุงอุทปาทิ ญาณังอุทปาทิ ปัญญาอุทปาทิ วิชชาอุทปาทิ อาโลโกอุทปาทิ เกิดพร้อมกันไปเลย ความรู้จริงก็เกิดขึ้น เมื่อถึงพระพุทธเจ้า หรือความรู้ของพระองค์ท่าน

ซึ่งสรุปได้ว่า หยุดนั่นแหละเป็นตัวสำเร็จ หยุดใจได้แล้วละก็  ความมืดก็หมดไป ความไม่รู้จริงก็หมดไป ความทุกข์ทรมานก็หมดไป มีความสุข สนุกสนาน เพลิดเพลินในธรรมเป็นสุขที่ละเอียดกว้างขวาง ประณีต เป็นอิสระ ไม่ต้องอาศัยวัตถุ คน สัตว์ สิ่งของ และรู้เห็นไปตามความเป็นจริง

สิ่งอะไรที่เที่ยงก็รู้ว่าเที่ยง ไม่เที่ยงก็รู้ว่าไม่เที่ยง อะไรเป็นทุกข์ก็รู้ เพราะเห็นอย่างนั้น อะไรเป็นสุขก็รู้ เพราะเห็นอย่างนั้น อะไรที่เป็นตัวเป็นตนก็รู้ อะไรไม่ใช่ก็รู้ รู้แล้วก็จะทิ้งสิ่งที่ไม่เป็นสาระแก่นสาร สิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

เมื่อปลดปล่อยสิ่งนั้น ก็จะเข้าถึงสิ่งที่เที่ยง ที่คงที่ ที่เป็นของจริง ของแท้ นั่นแหละสุขล้วน ๆ  เป็นเนื้อเป็นหนังที่แท้จริง เป็นอิสระจากกิเลสอาสวะ จากการเป็นบ่าวเป็นทาสของพญามารที่เขาบังคับบัญชาอยู่ จะบังคับบัญชาเรา ด้วยตัวของเราเอง ให้เป็นอย่างไรก็ได้ ธรรมกายนั่นแหละเป็นนิจจัง สุขขัง อัตตา มีอยู่ในกายของพวกเราทุก ๆ คนนี้แหละ

เพราะฉะนั้น พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ ท่านจึงสอนอย่างนั้น ซึ่งถูกจริตอัธยาศัยของท่าน ที่ถนัดในการนึกภาพและวางใจเป็น และก็เห็นไปตามความเป็นจริง ส่วนใครที่ยังไม่ถนัด ก็พลิกแพลงเอา แบบพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ท่านพลิกแพลงอนุโลมไปตามจริตอัธยาศัยของมนุษย์ที่มีไม่เหมือนกัน 

ให้วางใจเฉย ๆ จะกำหนดปอยผมที่ปลง ที่ท่านสอนนาคในโบสถ์ก็ได้ หรือจะนึกคิดในสิ่งที่เราคุ้นเคยก็ได้ แต่ให้เป็นวัตถุสิ่งของที่นำมาซึ่งความบริสุทธิ์ของดวงจิต ให้ใจสูงส่งขึ้นไปเรื่อย ๆ ก็ได้หรือจะเอาตัวของเรา อยู่ในกลางศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ขยายเต็มส่วนสุดขอบฟ้าไปแล้วก็ตามได้ทั้งนั้น 

หรือจะเริ่มต้นจากฐานใดฐานหนึ่งก็ได้ เริ่มตรงนั้นไปก่อน จนนิ่งถูกส่วน ใจนุ่มนวลควรแก่การงาน ถึงค่อยน้อมมาตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ก็ได้ พูดง่ายๆ คือ ตอนท้ายต้องมาหยุดตรงนี้เราต้องมีหลักของใจอย่างนี้ ไม่ใช่สะเปะสะปะกันไปแล้วสิ่งที่เราเห็นอะไรต่างๆ ที่ยังอยู่นอกกลาง จะเป็นแสงสว่างก็ดี หรือจะเป็นอะไรก็ตาม เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของก็ตาม

เห็นแล้วก็วางใจเฉยๆ ให้นิ่งๆ อย่าไปมีอารมณ์ร่วมกับสิ่งนั้นนิ่งเฉยๆ ณ จุดที่เราสบายอย่างนั้นไปก่อน และสิ่งเหล่านั้นก็จะแปรเปลี่ยนไปเป็นภาพสุดท้าย ดวงใสๆ หรือองค์พระใสๆพอถึงตรงนั้นจะวูบเข้ามาในกลางเอง และหลังจากนั้นจะเข้ามาในกลางกายเอง เกิดขึ้นในฐานที่ ๗

หลังจากนั้น การเข้ากลางจะเกิดขึ้นที่ฐานที่ ๗ จะเห็นตามความเป็นจริง คือแผนผังของชีวิตนั่นเองเราต้องจับหลักให้ได้ แล้วการปฏิบัติจะไม่เลอะเทอะไม่เลื่อนลอย เราก็จะเจอแต่ของจริง เห็นจริง รู้จริง สุขจริงบังเกิดขึ้นแก่ตัวของเรา ยิ่งปฏิบัติ ใจก็ยิ่งบริสุทธิ์ผุดผ่องไปเรื่อย ๆ ยิ่งปล่อยยิ่งละยิ่งวางไปเรื่อยๆ จิตใจก็ยิ่งองอาจกล้าหาญในการสร้างความดี

แผนผังของชีวิต ๓๗ - ๔๔


พระมงคลเทพมุนี (สด จนุทสโร) หลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

คุณครูไม่ใหญ่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๕

หนังสือชีวิตลิขิตได้ หน้า ๓๗ - ๔๔

ภาพจากเพจการบ้าน

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น