ทำให้ถูกหลัก

ตั้งใจปฏิบัติธรรมกันให้ดี ทำให้ถูกหลักวิชชา อย่าให้ตึงเกินไป อย่าให้หย่อนเกินไป อย่าอยากได้เกินไป จนกระทั่งทำให้เกิดความตึงเครียดที่ระบบประสาท และกล้ามเนื้อ พลอยทำให้ท้อใจ 

เพราะว่านั่งแล้วไม่ได้ผล หรือง่วงนอนบ้าง ปล่อยให้เลื่อนลอย อย่างนี้ไม่เกิดประโยชน์

 

ต้องทำให้ถูกหลักวิชชา ปรับใจให้หยุด ให้นิ่ง ๆ ให้ใจใส ๆ อยู่กับองค์พระ พอใจจะฟุ้งไป ก็ให้ดึงกลับมาใหม่ ที่จริงเรื่องราวที่เราฟุ้งไป ไม่ได้เกิดประโยชน์สาระแก่นสารอะไร ของชีวิตเลย นึกไปในเรื่องคนบ้าง สัตว์บ้าง สิ่งของบ้าง ธุรกิจการงาน อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ มีวันแต่จะแตกดับกันไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็เสื่อมสลายไป มันไหลไปสู่จุดสลายตลอด ไม่คงที่

นึกถึงสิ่งที่ไม่เป็นสาระแก่นสาร ไม่เกิดประโยชน์อันใด เราควรจะปลด ปล่อย วาง สิ่งเหล่านั้นทั้งหมด

ฝึกบ่อย ๆ เดี๋ยวก็ทำได้เอง เดี๋ยวเราก็จะคุ้นเคยกับการตัดใจ ปลดปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ไม่เป็นสาระ ไม่เป็นแก่นสาร ไม่เป็นประโยชน์เลย นึกแล้วกลุ้ม มาอยู่กับองค์พระ ให้ใจใส ๆ ดีกว่า

หยุดแรก จะยากสักนิด ไม่ใช่ยากมาก ยากนิดหน่อย แต่ต้องอาศัยการฝึกฝน ทำความเพียรให้สม่ำเสมอ ต้องมีสติ สบาย สม่ำเสมอ สังเกต ๔ ส. นี้ ต้องจำให้ดี

สติ คือ การดึงใจกลับมาอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้ได้ตลอดเวลา

สบาย คือ ทำอย่างสบาย ๆ  คล้าย ๆ กับเรานึกถึงเรื่องราวที่เราชอบ นึกแล้วไม่มึน ไม่ซึม ไม่ตึง ระบประสาทกล้ามเนื้อต้องไม่เกร็ง ไม่เครียด ต้องผ่อนคลาย 

แต่ที่ไม่สบาย เพราะเราเอาลูกนัยน์ตากดลงไปดู เพราะเราคุ้นเคย และชินว่าการที่จะมองภายในนั้น ต้องกดลูกนัยน์ตา ต้องเหลือบตาลงไป ถ้าเหลือบเฉย ๆ ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าตั้งใจเกินไปมันก็จะแรง กดลงไปโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ เราก็นึกว่าเรามองธรรมดา แต่จริง ๆ แล้วเรากำลังกดลูกนัยน์ตา

สม่ำเสมอ คือทำให้ได้ทุกวัน ทุกอิริยาบถ ทั้งนั่ง นอน ยืน เดิน

สังเกต เวลาเลิกนั่งสมาธิแล้วให้หมั่นสังเกตว่า เราทำถูกหลักวิชชาไหม ถ้าไม่ถูกก็ปรับปรุง แก้ไข ถ้าถูกก็ทำให้เจริญขึ้น คล่องขึ้น ให้ชำนาญขึ้น


โดยคุณครูไม่ใหญ่

๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๖, ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗

สิ่งที่ต้องแสวงหา เล่ม ๒ (หน้า ๑๕๐ - ๑๕๓)

ภาพดีๆ ๐๗๒, เพจการบ้าน

ความคิดเห็น